ประชาสัมพันธ์เชิญชวนพี่น้องชาวตำบลนาซำ ใช้วัสดุธรรมชาติในการทำกระทง เพื่อลดภาระทางสิ่งแวดล้อม
นายอภิชาต ภักดีสาร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาซำ พร้อมด้วยนายสาธิต สุทธิพันธ์ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลนาซำ ประชาสัมพันธ์เชิญชวนพี่น้องชาวตำบลนาซำ ใช้วัสดุธรรมชาติในการทำกระทง เพื่อลดภาระทางสิ่งแวดล้อม
แนวทางในการลอยกระทงเพื่อลดภาระสิ่งแวดล้อม สำหรับประชาชนทั่วไป ทั้งผู้ลอยกระทงและผู้ขายกระทง มีดังนี้
- ไปด้วยกัน ใช้กระทงเดียวกัน ได้แก่ ครอบครัวละหนึ่ง คู่รักละหนึ่ง กลุ่มละหนึ่ง เพื่อ “กระทงจะได้ไม่หลงทาง” เป็นการลดจำนวนกระทงที่จะส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำและเป็นภาระจัดเก็บหลังเสร็จงาน และช่วยประหยัดสำหรับผู้ที่จะซื้อกระทงอีกทางหนึ่งด้วย
- เลือกใช้วัสดุธรรมชาติ โดยใช้หยวกกล้วย กาบกล้วย ใบตอง นำเป็นประดิษฐ์กระทง ประดับด้วยกลีบดอกบัวหรือดอกไม้ กระทง กลัดด้วยไม้แทนเข็มหมุด ในลักษณะนี้จะไม่ย่อยสลายหรือจมลงเร็วเกินไป สามารถจัดเก็บและนำไปกำจัดได้ง่ายหลังจากเสร็จงาน หรือแม้มีบางส่วนที่เล็ดลอดออกสู่สิ่งแวดล้อมก็สามารถย่อยสลายได้
- หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุกระดาษ ซึ่งอาจจมน้ำหรือเปียกน้ำ แล้วจะยุ่งยากในการจัดเก็บ เท่ากับเป็นการสูญเสียทรัพยากรไป และควรนำไปรีไซเคิล ที่เกิดประโยชน์มากกว่า
- หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุพวกแป้ง ขนมปัง ที่ตั้งใจจะให้เป็นอาหารของปลาและสัตว์น้ำ แต่วัสดุพวกนี้ซับน้ำได้เร็วยุ่ยง่าย จมเร็ว และเป็นสารอินทรีย์ย่อยสลายได้เร็ว หากมีจำนวนมาก สัตว์น้ำไม่สามารถกินได้หมด จะทำให้แหล่งน้ำเน่าเสียเพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นการเพิ่มความสกปรกให้แหล่งน้ำ โดยเฉพาะในสระน้ำ บึง หรือหนองน้ำที่น้ำไม่ไหลเวียน หรือแหล่งน้ำนิ่ง
- ควรเลือกวัสดุประเภทเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการแยกกระทงไปจัดการต่อของหน่วยงานที่รับผิดชอบ เมื่อได้ทำการจัดเก็บหลังเสร็จงานแล้ว เช่น ทำจากใบตองหรือวัสดุธรรมชาติเป็นอินทรีย์ทั้งกระทง
- งดการวัสดุพลาสติกและโฟม ซึ่งเป็นวัสดุที่ย่อยสลายยาก พลาสติกบางชิ้นและโฟมไม่เหมาะในการนำไปรีไซเคิล หากเล็ดลอดสู่แม่น้ำและทะเลแล้วก็จะใช้เวลาหลายร้อยปีในการย่อยสลาย เมื่อปีที่ผ่านมายังพบการใช้กระทงโฟมอยู่บ้าง ปีนี้จึงขอความรวมมืองดการใช้อย่างจริงจัง
- งดใช้ลวด แม็กซ์ หมุด ตะปู ในการยึดวัสดุทำกระทง เนื่องจากสิ่งเหล่านี้อาจหลุดและตกลงสู่แหล่งน้ำ เป็นอันตรายได้และหากจัดเก็บกระทงมาได้ก็ยากในการคัดแยกเพื่อนำไปจัดการอย่างถูกวิธี จึงควรใช้ไม้กลัดจากวัสดุธรรมชาติแทน
แนวทางจัดการกระทงหลังเสร็จงาน สำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีดังนี้
- วางแผนและเตรียมการจัดเก็บกระทง โดยเฉพาะจากการจัดงานประเพณีและแหล่งชุมชน โดยกำหนดจุดจัดเก็บ เตรียมกำลังคน อาสาสมัคร เรือหรืออุปกรณ์ที่เหมาะกับสภาพแหล่งน้ำ โดยอาจทำทุ่นลอยดักกระทงบริเวณปลายน้ำ เพื่อความสะดวกในการรวบรวม
- คัดแยกวัสดุจากกระทง ออกเป็นประเภทต่าง ๆ ตามที่วางแผนไว้เพื่อนำไปจัดการอย่างเหมาะสม ได้แก่ นำกระทงจากวัสดุธรรมชาติไปหมักเป็นสารบำรุงดิน หลีกเลี่ยงการนำกระทงที่จัดเก็บมาได้ทั้งหมดไปฝังกลบรวมกัน เพราะจะทำให้เปลืองพื้นที่ฝังกลบ
- รวบรวมวัสดุที่คัดแยกนำไปจัดการอย่างเหมาะสม โดยพิจารณาเรื่องสถานที่ ค่าใช้จ่าย และระบบที่มีอยู่
- วัสดุธรรมชาติ จำพวกหยวกกล้วย ใบตอง ใบไม้ ดอกไม้ รวมถึงวัสดุจำพวกแป้ง (หากสามารถจัดเก็บได้ทัน) ควรนำ ไปหมักเป็นสารบำรุงดิน ซึ่งต้องเตรียมพื้นที่ไว้ล่วงหน้าให้เหมาะสม
- เทียนไข รวบรวมเพื่อนำไปหลอมใหม่
- พลาสติก เลือกประเภทพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้หรือผู้ประกอบการรับซื้อ เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล หรือนำไปเผาในเตาเผาที่มีประสิทธิภาพและระบบควบคุมมลพิษ
- โฟม รวบรวมนำไปสู่กระบวนรีไซเคิล ซึ่งต้องพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดและขนส่ง หรือนำไปฝังกลบ ซึ่งต้องพิจารณาถึงขนาดพื้นที่ของหลุมฝังกลบเพราะจะทำให้พื้นที่หลุมฝังกลบที่ใช้งานได้เหลือน้อยลง หรือนำไปเผาด้วยเตาเผาความร้อนสูงและมีอุปกรณ์ควบคุมมลพิษ ซึ่งมีอยู่ในบางพื้นที่ อย่างไรก็ตามปีนี้ควรงดกิจกรรมที่ส่งเสริมการใช้กระทงโฟม
- ขยะอื่น ๆ ที่ต้องกำจัด นำไปฝังกลบหรือการเผาด้วยเตาเผาตามระบบการจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ในวันลอยกระทงปีนี้คาดว่าจำนวนคนร่วมกิจกรรมและกระทงจะลดลงอย่างมาก เนื่องจากอยู่ในสภาวะสถานการณ์ COVID-19 และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศมีจำนวนน้อย การลอยกระทงปีนี้ นอกจากต้องยึดหลักไปด้วยกันใช้กระทงเดียวกัน เลือกกระทงที่ไม่ไปขยะหรือสร้างภาระแก่สิ่งแวดล้อม ยังต้องระมัดระวังตัวกันเป็นพิเศษ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น โดยต้องสวมหน้ากากอนามัยและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตามที่หน่วยงานภาครัฐกำหนด ขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ต้องประชาสัมพันธ์ข้อมูลและเตรียมความพร้อมในการจัดการกระทงหลังเสร็จงาน ส่วนผู้ที่ตัดสินใจงดไปร่วมงานลอยกระทง ซึ่งจะเลือกลอยกระทงแบบออนไลน์หรือไม่ก็ตาม ก็ขอให้ระลึกถึงบุญคุณของแหล่งน้ำที่เราได้ใช้ประโยชน์มาโดยตลอด และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำ